Content

Home / 01 /02 /03 / 04 / 05 / 06 / 07 / 08

แสงคือการลืมตา


ผมเชื่อว่าในบรรดาผลงานของนิสิตในหัวข้อ แสง ที่น่าจะสร้างความกังขาต่อสิ่งที่เรียกว่าคุณภาพของ

ผลงานศิลปะที่สุดในวิชา ศิลปะดิจิทัล 3 คือผลงานของเกียรติพงษ์ ลงเย ซึ่งเลือกใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อในการทำงานหัวเรื่อง แสง
โดยที่ภาพถ่ายทั้งหมดจงใจให้ภาพที่ถ่ายมามีลักษณะที่ไม่ชัดหรือเบลอ จากคุณสมบัติของเลนส์กล้องดิจิทัลประเภท SLR

โดยทั่วไปความเบลอของภาพถ่าย มักถูกเข้าใจว่า หนึ่ง เป็นจุดที่มิได้ถูกกำหนดให้มอง ซึ่งกระทำโดยเลนส์ในการสร้างระยะ หรือเป็นจุดที่มิได้โฟกัส ความไม่ชัดจึงมีคุณสมบัติช่วยขับเน้นให้กับสิ่งที่ชัดที่สุดในภาพ ความไม่ชัดทำให้สิ่งที่ถูกโฟกัสมีความเด่น สอง เป็นความบกพร่องของการถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเกิดจากกล้องหรือผู้ถ่ายภาพเอง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนากล้องถ่ายภาพดิจิทัลให้สามารถโฟกัสภาพได้หลายจุดพร้อมกัน ทำให้ภาพที่ออกมามีความชัดในทุกระยะ (ถ่ายอย่างไรก็ชัดซึ่งทำให้ใครๆก็ถ่ายภาพได้) ราวกับว่า ความเบลอ เป็นสิ่งที่กล้องถ่ายภาพดิจิทัลไม่รู้จัก โดยเฉพาะกล้องดิจิทัลแบบปัญญาอ่อน (Compact)

สิ่งที่เกียรติพงษ์นำเสนอในภาพถ่ายจึงขัดกับธรรมชาติของสายตาคนเรา ที่ต้องปรับสิ่งที่กำลังมองให้ชัด และขัดกับธรรมชาติ ของการมองสิ่งที่ปรากฏในภาพถ่ายที่เราจะมองในสิ่งที่ชัดก่อนหรือ มองให้รู้เรื่อง แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าในภาพถ่ายภาพหนึ่งจะไม่มีจุดโฟกัสให้มอง ผู้ชมถูกกำหนดให้มองสิ่งที่ไม่ชัด ราวกับว่าผลงานทำให้ผู้ชมทุกคนกลายเป็นคนที่มีปัญหาทางสายตา หรือว่า เกียรติพงษ์อยากให้เรามองสิ่งที่ ไม่ชัด ให้ ชัด หรือเป็นการ โฟกัส หาสาระของสิ่งที่ไม่ชัดดูบ้าง


1

7

9


4

มันเหมือนกับภาพแรกเมื่อผมลืมตาตอนตื่นนอน เกียรติพงษ์กล่าว ซึ่งทำให้ผมนึกงานจิตรกรรมสมัยโรแมนคิต ที่มุ่งเน้นการแสดงออกถึงบรรยากาศและอารมณ์ สะท้อนการนำเอาเศษเสี้ยวของประสบการณ์ในชีวิตประจำวันที่ไม่มีใครนึกถึงมาเป็นวิธีในการมองสิ่งต่างๆ ผ่านกล้องถ่ายภาพของเกียรติพงษ์ ว่าแท้จริงแล้วความไม่ชัดสามารถมองเป็นความงามอีกแบบหนึ่งได้ หรือความไม่ชัดอาจทำให้เราเห็นบางอย่างได้ง่ายกว่าการมองแบบชัดๆก็เป็นได้ เช่น เม็ดฝุ่นที่ถูกแสงแฟรชกระทบ (ภาพ 4) หรือ ความไม่ชัดสามารถลดวิธีการมองแบบแบ่งแยก หรือความไม่ชัดทำให้เราเห็นความเหมือนของสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสี หรือรูปทรงของสิ่งต่างๆ

หากความเบลอหมายถึงการลดรายละเอียดจนเหลือเพียงโครงสร้างรูปทรง ประตูวัดจึงเป็นเพียงรูปทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่วสิ่งก่อสร้างโดยทั่วไป (ภาพ 1) หรือเมื่อปรับภาพที่ 7, 9 ให้เป็นภาพขาวดำ เราอาจแยกไม่ได้ว่าภาพใดเป็นต้นไม้ ภาพใดเป็นขี้ควาย ผมจึงนึกได้ว่าเราเห็นและเข้าใจสิ่งต่างๆ โดยอาศัยประสบการณ์ของตนในการตีความสิ่งที่เห็น

ถึงแม้ความเบลอในภาพถ่ายของเกียรติพงษ์ ลงเย จะเป็นความเบลอที่ใครๆก็ถ่ายได้ แต่ความเบลอดังกล่าว เป็นความตั้งใจ หรือหมายถึงสิ่งใดนั้นต้องพิจารณากันอีกที แต่ถ้าจะกล่าวจากที่ผมเห็นแล้ว ความเบลอของเกียรติพงษ์เป็นการถ่ายที่สามารถสะท้อนวิธีมองสรรพสิ่งโดยปราศจากเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่คอยกำหนดและให้ความหมายต่อสีและรูปทรงของสิ่งต่างๆ ไปสู่การมองแบบไม่จำแนกแยกแยะสิ่งใดแบบภาพนามธรรม ซึ่งไม่สามารถทำได้จากการมองแบบปกติ นอกจากคนสายตาไม่ปกติ หรืออาจเป็นผลงานที่สามารถใช้วัดว่าผู้ชมเป็นผู้ที่มีอารมณ์แบบโรแมนติกมากหรือน้อยเพียงใดก็เป็นได้

ประทีป สุธาทองไทย


No comments:

Post a Comment

Text

Home / 01 /02 /03 / 04 / 05 / 06 / 07 /08