Content

Home / 01 /02 /03 / 04 / 05 / 06 / 07 / 08

สิบสี่ตุลา ประวัติศาสตร์แห่งสุญญากาศ

สิบสี่ตุลา ประวัติศาสตร์แห่งสุญญากาศ

หนึ่งในผลงานสร้างสรรค์เรื่อง เวลา ของรายวิชาศิลปะดิจิทัล 3 ที่ติดอยู่ข้างบทความนี้ เป็นหนึ่งในผลงานที่ตีความสิ่งที่เรียกว่า เวลา ที่สามารถเป็นหัวข้อที่สนุกที่สุดและเป็นหัวข้อที่ยากที่สุดได้ในเวลาเดียวกัน ขึ้นอยู่กับความสนุกในการคิด ว่าเวลาคืออะไร อะไรเกี่ยวกับเวลาและอะไรที่พูดถึงเวลาได้ ซึ่งมากจนหาขอบเขตไม่ได้ เช่นเดียวกับเวลาที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด

โดยธรรมชาติแล้ว ผลงานศิลปะต้องมีเวลา นับได้ตั้งแต่เวลาในการทำงานของศิลปิน ก่อนเสร็จเป็นผลงาน กลายเป็นเวลาของปัจจุบันของผลงานซึ่งสัมพันธ์กับเวลาของคนดู ฉะนั้น ผลงานชิ้นสำคัญของโลกที่ยังมีคนอยากดู ตอกย้ำการไม่เคยตายของผลงาน ในขณะที่ศิลปินตายไปแล้ว โดยยังไม่นับผลงานที่เกิดแล้วตายในทันที อย่างที่เรียกว่างานศิลปะแสดงสด performance art หรือผลงานที่มีการเคลื่อนไหว ซึ่งต้องใช้เวลาในการมอง เช่น งานวิดีโอ ศิลปะเชิงสถานการณ์ ที่มีข้อจำกัดในการคงอยู่ทั้งแบบถาวรและไม่ถาวร ซึ่งเหลือเพียงภาพบันทึกเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นไว้ คล้ายเป็นผีของผลงาน

ภาพถ่ายสามารถพูดถึงเวลาได้มากกว่าสื่อชนิดใด เพราะภาพถ่ายสัมพันธ์กับความจริงในระดับหนึ่ง กล่าวคือ ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือในการหยุดและจับเวลาในชั่วขณะหนึ่งไว้ให้อยู่ในภาพ ภาพถ่ายจึงมีสถานะเป็นร่องรอยหรือหลักฐานของเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง และเพราะไม่มีใครสามารถถ่ายภาพอนาคตหรือเวลาที่ยังมาไม่ถึงได้ ภาพถ่ายจึงเป็นอดีตตลอดกาล ฉะนั้นในด้านหนึ่ง ภาพถ่ายจึงเป็นเรื่องของความตาย แต่ความตายในภาพถ่ายกลับฟื้นขึ้นชีพจากการที่คนอยากดูภาพเหล่านั้น จนกลายเป็นภาพอมตะ กรณีเดียวกับผลงานศิลปะชิ้นสำคัญที่ยังมีคนอยากดู เช่น ภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ
แม้เหตุการณ์จะผ่านไปนานกว่า 30 ปี แต่ก็ยังมีการนำเหตุการณ์ดังกล่าวมากล่าวถึง โดยเฉพาะในวงวิชาการประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง ที่ยังมีประเด็นให้มีการถกเถียง มีการตั้งคำถามถึงความจริง ความถูกต้องและสิ่งที่ยังไม่ถูกเปิดเผย ตลอดจนความต้องการที่จะให้มีการชำระประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าว เพราะ 14 ตุลาฯ เป็นเหตุการณ์ที่มีทั้งคนที่อยากจำและคนที่อยากลืม


ผมเคยสงสัยว่าพลังของนักศึกษาในวันนี้หายไปไหน (ถ้ามันยังมีอยู่จริง) ก่อนที่จะพบพลังดังกล่าวในฝูงชนหน้าเวทีการประกวด Academy Fantasia ในทุกๆฤดู ผมคิดเอาเองว่าคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เป็นรุ่นที่เบื่อการเมืองแล้ว เพราะคนสมัยนี้อาจไม่รู้สึกคาดแคลนเสรีภาพ หรือถูกปิดกั้นการแสดงออกอย่างในยุคก่อน ตลอดจนความถูกต้องทางการเมือง (ที่หาคำตอบไม่ได้ในปัจจุบัน) จนวัยรุ่นต้องในยุคดังกล่าวต้องออกมาเรียกร้อง

คนรุ่นใหม่อาจรู้จักภาพเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เท่ากับภาพ เชกูวารา ที่พิมพ์อยู่บนเสื้อยืด (โดยที่ไม่จำเป็นต้องตอบได้ว่าเชฯเป็นใคร) และไม่รู้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีความสำคัญอย่างไร อีกทั้งยังสับสนระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 กับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกัน (แต่ไม่รู้เกิดปีไหน!)
นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า คนในโลกปัจจุบันพอใจที่จะรับรู้ข่าวาสาร, มีอารมณ์ความรู้สึก, ทรรศนะ, มีความคิด และปฏิกิริยาเป็นเรื่องๆที่แยกจากกัน แต่ละเรื่องไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับเรื่องอื่น เสร็จสิ้นในตัวของมันเอง ฉะนั้น คนที่เสร็จจากเที่ยวเจ็ดมหัศจรรย์ล้านนาแล้วก็อาจไปกรี๊ดนักร้องญี่ปุ่นได้โดยไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่ขัดกันในตัวเองเลย เพราะเป็นปรากฏการณ์สองอย่างที่ไม่สัมพันธ์กัน
[1]

ผลงานภาพถ่ายโดยอาศัยกระบวนการตัดต่อของ สันติชัย ทิพย์เนตร ที่กำลังแสดงภาพตนเองเข้าไปปรากฏในภาพถ่ายเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ โดยเจ้าตัวบอกว่าเขาอยากย้อนเวลากลับไปรู้จักเหตุการณ์ดังกล่าว สามารถสะท้อนช่องว่างระหว่างยุคสมัย และสถานะของภาพถ่ายที่เป็นเพียงข้อมูลในเชิงปรากฏการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใด ประกอบสถานะของ ความจริง ในภาพถ่ายที่สูญเสียไปกับเทคโนโลยีและกระบวนการตัดต่อจนแยกได้ไม่ง่ายว่าอะไรคือความจริง

เพราะไม่มีคำตอบว่าสันติชัยดูภาพถ่ายเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ด้วยความรู้สึกอะไร? หรือทำไมสันติชัยต้องปรากฏตัวเป็นทหาร แทนที่จะเป็นนักศึกษา? หรือการให้ตัวเองไปปรากฏในภาพถ่ายประวัติศาสตร์แล้วจะได้เรียนรู้อะไร? แต่อาจเป็นเพียงจินตนาการหรือการกระทำที่ได้ความรู้สึกแบบเดียวกับตอนเล่นเกมส์ออนไลน์เท่านั้น

ประทีป สุธาทองไทย

[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์. “นักศึกษาโพสต์โมเดิร์น” ใน บริโภค/โพสต์โมเดร์น. กรุงเทพฯ : มติชน, 2547.

No comments:

Post a Comment

Text

Home / 01 /02 /03 / 04 / 05 / 06 / 07 /08